เสาวรักษ์ สุคนธรังษี : ผลงานศึกษาวิจัย วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต วิทยาลัยราชสุดา ม.มหิดล
ชื่อเรื่อง : การศึกษาปัญหาความต้องการและแนวทางให้การปรึกษาและแนะแนวคนตาบอดหูหนวกในสถาบันฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ (พ.ศ.2546)
อาจารย์ผู้ควบคุม : พูนพิศ อมาตยกุล, M.D., M.A., สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต, Diploma of Thai Board in Ophthalmology, ทวี เชื้อสุวรรณทวี, M.Sc. (Mental Health), 175 หน้า.
ISBN 974-04-3550-5
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจครั้งแรกในประเทศไทยเกี่ยวกับคนตาบอดหูหนวก(Deafblindness) โดยเลือกจากคนพิการตาบอดหูหนวกที่อยู่ในสถาบันคนพิการ 8 แห่ง คือ โรงเรียนศึกษาพิเศษนครปฐม บ้านเด็กตาบอดผู้พิการซ้ำซ้อนรามอินทรา (ก่อนย้ายไปอยู่ที่ลพบุรี) โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดสงขลา โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดตาก โรงเรียนศึกษาพิเศษมุกดาหารและศูนย์การศึกษาและฟื้นฟูสมรรถภาพคนตาบอดจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 35 คน อายุ 7-60 ปี โดยศึกษาข้อมูลที่ตรวจพบทางคลินิก รวมถึงปัญหา ความต้องการและแนวทางการให้การปรึกษาและแนะแนว ใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลใช้การสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น หากกลุ่มตัวอย่างใช้ภาษามือในการสื่อสาร จะใช้ล่ามภาษามือช่วย ถ้าไม่สามารถสื่อสารได้ จะใช้วิธีสัมภาษณ์ผู้ปกครอง ครู หรือผู้ดูแลแทน ผลที่ได้จากการวิจัยนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ
การสำรวจพบว่ากลุ่มคนพิการตาบอดหูหนวกในประเทศไทยยังไม่ได้รับความสนใจ ดูแล และจัดแยกประเภทไว้ให้เป็นที่ชัดเจนเพื่อการให้บริการที่ถูกต้องและเหมาะสม และที่สำคัญมักจะมีความพิการทางสติปัญญาร่วมด้วย ผู้วิจัยได้ออกภาคสนามทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ต้องค้นหาและทำการตรวจทางคลินิคอย่างละเอียด กว่าจะได้จำนวนที่จัดว่าพิการตาบอดหูหนวกจริง ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ (พ.ศ.2534)
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้จากโรงเรียนสอนคนหูหนวก (62.86%) มีช่วงอายุระหว่าง 11-20 ปี (60.0%) อัตราส่วนชาย:หญิง (1.9:1.0) เป็นคนหูหนวกแต่กำเนิดตาบอดภายหลัง (CD-AB) จำนวน 17 คน (48.58%) คน ตาบอดหูหนวกแต่กำเนิด (CDB) จำนวน 16 คน (45.71%) และคนตาบอดแต่กำเนิดหูหนวกภายหลัง (CB-AD) จำนวน 2 คน (5.71%) มีสาเหตุจากหัดเยอรมัน 9 คน (25.71%) Usher syndrome 6 คน (17.14%) และจากเหตุคลอดก่อนกำหนดมีน้ำหนักตัวน้อย 1 คน (2.86%) ด้านการสื่อสารพบว่าสามารถพูดได้ บ้าง (5.71%) ใช้ภาษามือ (57.14%) ใช้ภาษาท่าทางอย่างเดียว(45.71%)
คำถามเรื่องความต้องการแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ (1) ด้านการแพทย์ ต้องการตรวจวัดการได้ยินและสายตาอย่างน้อยปีละครั้ง ขอรับอุปกรณ์เครื่องช่วยสายตา และเครื่องช่วยฟังเสียง จำนวน 40.0%, 14.29% และ 8.57% ตามลำดับ (2) ด้านการศึกษา ต้องการเข้าฝึกเพื่อให้ช่วยเหลือตนเองได้ (40.0%) ต้องการเรียนในระบบการศึกษานอกโรงเรียน 11.43% เรียนในวิทยาลัยราชสุดา 5.71% และไม่ประสงค์จะเรียนต่อ หลังจากจบชั้น ป.6 แล้ว 2.86% (3) ด้านสังคม ต้องการให้สังคมยอมรับ (80.0%) ต้องการงบประมาณสำหรับการเรียน (51.43%) และ (4) ด้านอาชีพ ต้องการได้รับการฝึกอาชีพ (17.14%) และอยากประกอบธุรกิจส่วนตัว (14.29%)
ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ภาวะขาดแคลนล่ามภาษามือ (100%) ปัญหาในการสื่อสารกับคนทั่วไป (85.71%) เกี่ยวกับทัศนคติที่ไม่ดีกับคนตาบอดหูหนวกนั้นพบมาก (91.43%) ความไม่เชื่อว่าคนตาบอดหูหนวกสามารถมีวิถีชีวิตอิสระได้ (57.14%) เข้าใจผิดว่าคนตาบอดหูหนวกคือคนปัญญาอ่อน (31.43%) ขาดแคลนครูสอนเฉพาะทางด้านคนตาบอดหูหนวก (71.43%) และรัฐไม่มีนโยบายด้านการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับคนตาบอดหูหนวก (28.27%) ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งนี้ คือ ให้มีการสำรวจหาคนกลุ่มนี้ และให้มีการเตรียมการช่วยเหลือในระยะต้น จัดให้มีโปรแกรมการศึกษารายบุคคล (IEP) และดำเนินการเรื่องการให้การปรึกษาและแนะแนว
รหัสนักศึกษา 4136398 RSRS/M ศศ.ม. งานบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
การติดต่อ โทรศัพท์ 01-645-4584 หรือ Email s_saowaruk@hotmail.com