ประวัติการก่อตั้ง

มูลนิธิราชสุดา เป็นมูลนิธิที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งขึ้น โดยได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้สร้อยพระนามาภิไธย “ราชสุดา” เป็นมงคลนามพระราชทานนามนี้ เมื่อวันวิสาขบูชา ตรงกับวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นกองทุน เพื่อสนับสนุน การศึกษา และการวิจัยในเรื่องของคนพิการทางกาย อันได้แก่ คนพิการหูหนวก หูตึง พูดไม่ได้ หรือพูดผิดปกติ พิการทางการมองเห็น ความพิการของสมอง พิการทางร่างกาย และการเคลื่อนไหว ให้ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เปิดโอกาสให้ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยทุกระดับเสมอด้วยคนทั่วไป หลังจากที่ได้ก่อตั้งมูลนิธิ ฯ มาเป็นระยะเวลา 4 ปีเศษ มูลนิธิ ฯ ได้ขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือกว้างออกไปอีก คือ ให้การสนับสนุนการศึกษาในคนปกติที่มีความประสงค์จะทำงานบริการคนพิการ เช่น ผู้บริหารงานเกี่ยวกับคนพิการ ครูการศึกษาพิเศษ นักวิชาการงานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ รวมไปถึงการให้บริการที่หลากหลายแก่คนพิการ เช่น การให้บริการคำปรึกษาแนะแนว งานบริการล่ามภาษามือ และในอนาคตจะขยายการช่วยเหลือออกไปสู่คนพิการประเภทอื่น ๆ อันได้แก่ คนพิการทางพฤติกรรม คนพิการทางการเรียนรู้ และคนปัญญาอ่อน รวมถึงคนที่มีความพิการซ้ำซ้อนอีกด้วย
ตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิราชสุดา เป็นรูปใบโพธิ์ ภายในเป็นรูปต้นไทรเหนือยอดไทร เป็นพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนปลายยอดของใบโพธิ์ เป็นพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงริเริ่มงานสังคมสงเคราะห์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย รวมความแล้วมีความหมายถึงพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมของทั้งสองพระองค์ ผู้ทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่คนพิการทั้งหลาย เบื้องใต้ใบโพธิ์เป็นอักษรชื่อมูลนิธิฯ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
มูลนิธิราชสุดาได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 มีเลขทะเบียนลำดับที่ 5082 เป็นองค์กรสาธารณะกุศลลำดับที่ 240 ผู้ที่ได้บริจาคเงินให้กับมูลนิธิฯ จะได้รับใบเสร็จรับรอง ซึ่งสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีอากรประจำปีได้
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม โดยทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิ ฯ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นกองทุนดำเนินการของมูลนิธิ ฯ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งวิทยาลัยราชสุดา มีนามเดียวกับมูลนิธิ ฯ เพื่อเป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องของคนพิการ ให้โอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการ ตลอดจนการวิจัยเกี่ยวกับคนพิการ อันเป็นงานใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ต้องอาศัยระยะเวลาอันยาวนาน โดยที่มูลนิธิราชสุดาจะทำหน้าที่สนับสนุนวิทยาลัยราชสุดาและสนับสนุนคนพิการ ในด้านการศึกษา การมีวิถีชีวิตอิสระ สืบต่อไปในอนาคต
พระนาม/นามคณะกรรมการ ที่ปรึกษา (ชุดที่ 1) มูลนิธิราชสุดา
1. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี | องค์ประธาน |
2. ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล | รองประธาน |
3. ท่านผู้หญิงพึงใจ สินธาวานนท์ | กรรมการ |
4. นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา | กรรมการ |
5. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ | กรรมการ |
6. นายสมภพ อมาตยกุล | กรรมการ |
7. ดร.วีณา เชิดบุญชาติ | กรรมการและเหรัญญิก |
8. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล | กรรมการ |
9. นายกมล ดิฐกมล | กรรมการ |
10. ศาสตราจารย์เกียรติคุณพูนพิศ อมาตยกุล | กรรมการและเลขานุการ |
พระนาม/นามคณะกรรมการ ที่ปรึกษา (ชุดที่ 2) มูลนิธิราชสุดา
1. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี | องค์ประธาน |
2. ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล | รองประธาน |
3. ท่านผู้หญิงพึงใจ สินธวานนท์ | กรรมการ |
4. นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา | กรรมการ |
5. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล | กรรมการ |
6. นายกมล ดิฐกมล | กรรมการ |
7. รองศาสตราจารย์รจนา ทรรทรานนท์ | กรรมการ |
8. พันโทต่อพงษ์ กุลครรชิต | กรรมการ |
9. ม.ร.ว.อรฉัตร ซองทอง | กรรมการและเหรัญญิก |
10. ศาสตราจารย์เกียรติคุณพูนพิศ อมาตยกุล | กรรมการและเลขานุการ |
11. นางพะเยาว์ สุจริต | กรรมการและรองเลขานุการ |
ที่ปรึกษามูลนิธิราชสุดา
12. ดร.อภิชัย จันทรเสน | ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย |
13. ศาสตราจารย์หิรัญ รดีศรี | ที่ปรึกษาด้านการเงิน |