องค์กรเพื่อคนพิการ

  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2536 เพื่อเป็นแหล่งทุนสนับสนุนการศึกษา การวิจัย การให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ เพื่อให้มีโอกาสเล่าเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยมีเป้าหมายสำหรับวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งให้การช่วยเหลือนักศึกษาพิการจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ในการฝึกให้มีความพร้อมในการพึ่งตนเองด้วยการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วยเหลือในการศึกษาเล่าเรียน บทความนี้ เป็นบทสรุปถึงพระราชจริยาวัตรที่ทูลกระหม่อมทรงมีต่อคนพิการ รวมถึงญาติ ครู และผู้ดูแลคนพิการ เพื่อท่านผู้อ่านจะได้เข้าใจและชื่นชมในพระจริยาวัตรนั้น

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เคยตรัสเล่าพระราชทานว่า ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ไม่เคยที่จะทรงรู้สึกรังเกียจ กลัว หรือรำคาญคนพิการเลย เพราะสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจัดให้เสด็จออกไปทำหน้าที่เลี้ยงอาหารคนพิการ ทรงป้อนข้าวคนพิการด้วยพระหัตถ์ตั้งแต่ครั้งที่ยังทรงเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษา เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้น ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จ พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด ทรงพบเห็นคนพิการมากขึ้นเป็นลำดับ ทรงทราบถึงปัญหาของคนพิการเหล่านั้น และทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานค่ารักษาพยาบาล อุปกรณ์ช่วยคนพิการ ส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาและฝึกงานอาชีพ เสมอด้วยคนปกติ มีคนพิการจำนวนไม่น้อยที่พระราชทานเงินเลี้ยงชีพอย่างต่อเนื่องโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เงินจากกองทุนต่าง ๆ เช่น มูลนิธิสายใจไทย และมูลนิธิราชสุดาเป็นต้น

รับสั่งเล่าว่า ความพิการที่ทอดพระเนตรเห็นทุกครั้ง เป็นเรื่องที่ทำให้สนพระทัยในเรื่องของคนพิการและความพิการมากยิ่งขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์ที่ทราบว่าเป็นความพิการประเภทใด มีชื่อโรคว่าอะไร รุนแรงแค่ไหน วิธีบำบัดรักษาจะต้องทำอย่างไร ใช้เวลานานเท่าใด มีลำดับขั้นตอนในการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างไร และต้องปรึกษาหารือนักวิชาการสาขาใดบ้าง จะหายขาดเป็นปกติหรือไม่ พระราชจริยาวัตรดังกล่าวนี้ เป็นคุณลักษณะอันประเสริฐของผู้เป็นบัณฑิต มีผลให้ทรงทราบแนวทางที่ควรจัดการเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามลำดับขั้นโดยละเอียด

เมื่อเวลาผ่านไป ทรงคุ้นเคยกับบรรดานักวิชาการที่ทำหน้าที่รักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการมากยิ่งขึ้นเป็นลำพดับ ทรงรู้จักชื่อของหมอที่ชำนาญโรคสาขาต่าง ๆ และทรงรู้จักและจำชื่อได้ว่าหมอคนนั้นทำอะไร อยู่ที่ไหน เป็นหมอเโรคกระดูก โรคของสมองและระบบประสาท โรคตา โรคหู โรคจิต โรคที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญาหรือความผิดปกติของพฤติกรรม หมอและบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับแขนขาเทียม การฝึกกายภาพบำบัด ทรงสนพระทัยและเสด็จเยี่ยมทหาร ตำรวจ บุคคลต่าง ๆที่พิการจากราชการสงคราม เสด็จเยี่ยมโรงเรียนที่ให้การศึกษาแก่เด็กพิการทุกๆประเภท เช่นโรงเรียนสอนคนปัญญาอ่อน หูหนวกเป็นใบ้ ตาบอด สมองพิการเคลื่อนไหวและสื่อสารไม่ได้ พิการของแขน ขา ลำตัว เคลื่อนไหวไม่ได้ ฯลฯ ทรงคุ้นเคยกับครูและนักการศึกษาพิเศษที่ดูแลเด็กพิการทั้งหลาย ที่สำคัญทรงเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้งในเรื่องวิธีการให้การศึกษาและการฝึกอาชีพของคนพิการทุกประเภท ตลอดไปจนถึงการแก้ไขผู้มีความผิดปกติทางพฤติกรรมและโรคจิต ทรงทราบดีในเรื่องของอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกนานาประการที่คนพิการจำเป็นต้องใช้ ทรงทราบรายละเอียดมากจนถึงการสรรหาไปจนถึงการที่จะจัดการให้มีการผลิตอุปกรณ์พิเศษเพื่อให้คนพิการได้มีใช้ ทรงจำได้แม่นยำราวกับว่าทรงจดไว้แล้วทบทวนเรื่องราวอยู่เป็นประจำ

เมื่อทรงตั้งมูลนิธิสายใจไทย ยิ่งทรงคุ้นกับทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่พิการเพราะไปทำหน้าที่ในสมรภูมิ ทรงคุ้นเคยกับคนพิการเหล่านั้น ทรงจำชื่อได้และทรงบอกได้ว่า ทหารคนนั้น อยู่ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก หรืออยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ เขาต้องนอนอย่างเดียว นั่ง ยืน เดินได้มากน้อยเพียงใด คนไหนป่วยเรื้อรังเป็นแผลกดทับบ่อย ก็ทรงทราบดีไปหมด พระเมตตานั้นหลั่งไหลไปสู่คนพิการเหล่านั้นอย่างไม่ขาดสาย และยังพระราชทานต่อไปจนถึงภรรยาและบุตรของผู้พิการเหล่านั้นด้วย

เมื่อทรงเป็นพระอาจารย์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทรงมีศิษย์ที่พิการเพราะออกไปปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิ หรือประสบภัยอันตราย กลายเป็นตาบอด เป็นอัมพาตของแขนขาทั้งสี่ ต้องนั่งบนรถเข็นตลอดเวลา ก็พระราชทานพระกรุณา ติดตามรักษา จัดให้ฝึกงานอาชีพ สำหรับคนที่ยังเรียนไม่จบจากโรงเรียนนายร้อย ก็ทรงจัดให้เปลี่ยนสาขาวิชาที่เรียน ทรงส่งตัวไปเรียนและดูงานในต่างประเทศ นายทหารพิการเป็นอัมพาตอย่างแรง ทั้งแขนและขาทั้ง 4 เมื่อทรงทราบว่าเขาจะแต่งงาน ก็พระราชทานน้ำสังข์ให้เป็นกำลังใจ ต่อมาเมื่อนายทหารท่านนี้ได้ต่อสู้ชีวิตและช่วยตนเองได้ดีขึ้น จนถึงสามารถขับรถยนต์ที่จัดขึ้นด้วยระบบพิเศษไปไหนมาไหนโดยลำพังตนเองได้ ก็ทรงมีพระเมตตารับสั่งชมเชยที่เป็นคนอดทนและต่อสู้ชีวิต ในที่สุดก็ทรงพระกรุณาโปรดเล้าฯ ให้เข้ามาถวายงานเป็นกรรมการในมูลนิธิฯ ที่ทำงานบริการคนพิการ

ในปี 2526 ทรงเริ่มโครงการทดลองสอนเด็กหูหนวกปฐมวัย ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง โดยรับเด็กหูหนวกพูดไม่ได้ก่อนวัยเรียนเข้ามาฝึกอบรมเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนจริง เสด็จลงทรงสัมภาษณ์ผู้ปกครองเด็กหูหนวกเหล่านั้นด้วยพระองค์เองจนคบทุกรายโครงการนี้ยังดำเนินต่อมาจนทุกวันนี้ สำหรับโรงเรียนที่สอนเด็กพิการ ได้เสด็จเยี่ยมโรงเรียนสอนเด็กปัญญาอ่อน เด็กตาบอด เด็กหูหนวก ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด พระราชทานพระราชานุเคราะห์นานัปการ มีอุปกรณ์การศึกษา เครื่องคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงเรื่องของโภชนาการของเด็กพิการ เด็กที่โตแล้วมีความเฉลียวฉลาด แม้หูจะหนวกพูดไม่ได้ ก็พระราชทานทุนการศึกษา ให้ได้ไปเรียนต่อจนจบระดับปริญญาในสหรัฐอเมริกา

ทรงทราบปัญหาในครอบครัวของคนพิการ ที่สำคัญยิ่งคือคือปัญหาความยากจน ปัญหาครอบครัวแตกแยก ทำให้เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เรื่องบิดามารดาเด็กพิการมีการศึกษาน้อยและไม่มีอาชีพที่ยั่งยืน การขาดโอกาสที่จะได้เล่าเรียน ขาดอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก ครั้นเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า ก็ทรงสนพระทัยในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถปรับใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อคนพิการ จนถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดการประชุมสัมมนาเรื่องเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2539 ต่อมาได้พระราชทานกำเนิดโครงการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการขึ้น ในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NECTEC) ยังผลให้เกิดงานวิจัยเป็นประโยชน์แก่คนพิการหลายประการเกิดขึ้น

เมื่อเสด็จขึ้นไปเยี่ยมจังหวัดแพร่และน่าน ก็ทรงพบว่ามีเด็กเป็นจำนวนมากป่วยด้วยโรค “เอ๋อ” คือปัญญาอ่อน พูดไม่ได้ หูหนวก หูตึง และเป็นคอพอก เพราะขาดสารอาหารคือเกลือไอโอดีน รับสั่งว่าคนพิการควรช่วยคนพิการด้วยกัน จึงได้เกิดโครงการผลิตเกลือไอโอดีนขึ้นที่โรงเรียนสอนคนหูหนวกจังหวัดเชียงใหม่ นำเกลือไอโอดีนนั้นไปแจกจ่ายให้เจือลงในน้ำดื่มในโรงเรียนทั่วไปก่อน ต่อมาก็ทำขาย ได้ผลดีเพื่อป้องกันการเป็นโรคทั้งยังทำรายได้ให้แก่โรงเรียนที่ผลิตเกลือไอโอดีนเป็นเงินไม่น้อย นอกจากนี้ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้จัดการโครงการอาหารกลางวัน มีการเลี้ยงสัตว์ เช่นการเลี้ยงกบในโรงเรียนเด็กพิการทางสติปัญญา การปลูกผักทำสวนกล้วยและมะละกอเพื่อให้เด็กพิการมีอาหารที่ถูกสุขลักษณะเป็นประจำทุกวัน เด็กพิการทางการเคลื่อนไหวบางคนที่สนใจงานเกษตร สามารถลงทำสวนปลูกผัก พรวนดินได้ทั้งๆ ที่ต้องถัดไปกับพื้น ก็มีพระราชอุตสาหะเสด็จเยี่ยมเป็นกำลังใจแก่เด็กเหล่านั้น สำหรับเด็กหูหนวกก็พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นจำนวนมากจัดให้กรมประมงและโครงการเกษตรส่วนพระองค์ สร้างบ่อปลาขนาดใหญ่ เป็นโครงการเลี้ยงปลาเศรษฐกิจ และปลาสวยงามขึ้น ที่วิทยาลัยราชสุดา จังหวัดนครปฐม จัดเป็นวิชาชีพเสริมสำหรับเด็กหูหนวกที่กำลังเรียนในระดับปริญญาตรี

เมื่อเสด็จไปต่างประเทศ ทั้งที่ญี่ปุ่นและอเมริกา หากมีโอกาสจะเสด็จไปทอดพระเนตรสถาบันการศึกษาและฝึกอบรมเด็กพิการ เช่นเสด็จเยี่ยมสถาบัน Hilton Perkins ซึ่งสอนคนตาบอดหูหนวก ที่เมือง Water Town ในรัฐ Massachusetts เป็นงานที่ยากในการฝึกสอนเด็กที่เกิดมาแล้วหูหนวกเป็นใบพร้อมกับตาบอด ก็ทรงได้ความคิดต่าง ๆ มาพระราชทานด้วย ทรงชี้ให้เห็นถึงการฝึกอบรมคนพิการซ้ำซ้อนว่า เมืองไทยยังจะต้องเดินทางอีกไกลมากกว่าจะสอนเด็ก Deafblind ได้ดีเหมือนที่สหรัฐอเมริกา

เมื่อมูลนิธิ Franklin Delano Roosevelt ประกาศให้รางวัลแก่ประเทศไทยที่ทำงานเกี่ยวกับคนพิการได้ผลดียอดเยี่ยม เมื่อปี 2544 พระบาทสมเด็จ พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นผู้แทนพระองค์ไปรับรางวัลนี้ที่สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ค ทรงมีรับสั่งว่า รางวัลที่ได้มานี้ เป็นงานที่คนพิการโดยองค์รวมได้ช่วยกันทำไว้มานานแล้วในอดีต รวมกับงานระดับชาติที่เป็นส่วนของราชการโดยรัฐบาลหลายสมัยในอดีตที่ได้ทำสืบสานกันมา เมื่อทรงเป็นผู้แทนของชาติไทยรับรางวัลมาแล้ว ก็จะพระราชทานกลับคืนไปให้คนพิการ ครั้นทรงทราบว่า รัฐบาลไทยจะร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น ลงทุนก่อสร้างสำนักงาน The Asian Pacific Center on Disabilities ก็พระราชทานเงินก้อนนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ให้เป็นต้นทุนของสำนักงานนี้เมื่อเดือนกันยายน 2546 พระมหากรุณาธิคุณแก่คนพิการนั้น มีมากมายในรายละเอียดเกินกว่าที่จะบรรยายได้หมดสิ้น ท่านที่สนใจในรายละเอียด สามารถติดต่อขอข้อมูลได้จากมูลนิธิราชสุดา ผ่านทาง Website นี้


ทำเนียบบุคคล

  • ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี งานเกี่ยวกับงานคนพิการ
  • งานตาบอดและสายตาเลือนราง
  • งานหูหนวกและล่ามภาษามือ
  • งานปัญญาอ่อน
  • งานความพิการทางการเคลื่อนไหว
  • งานออติสติก
  • งานเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก
  • งานความผิดปกติของการพูดและการแก้ไข
  • ความพิการซ้ำซ้อน

ภาคราชการ

  • ด้านการแพทย์
  • ด้านการศึกษา
  • ด้านสังคม
  • ด้านอาชีพ
  • ด้านจัดหางาน
  • ด้านอื่น ๆ

ภาคเอกชน

  • พิการทางการมองเห็น
  • พิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย
  • พิการทางกายและการเคลื่อนไหว
  • พิการทางจิตและพฤติกรรม
  • พิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้
  • ทุกประเภทความพิการ